วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปฏิบัติการวันที่ 1 ก.ค. 2554

การแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส (mitosis)
การแบ่งเซลล์แบบนี้ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนเซลล์ในร่างกาย (somatic cell) ทำให้สัตว์และพืชมีการเจริญเติบโต และเป็นการแบ่งเซลล์เพื่อการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและหลายเซลล์เซลล์ก่อนการแบ่งเซลล์เรียก เซลล์แม่ (mother cell) มีโครโมโซม (chromosome) เป็นดิพลอยด์ (diploid) หรือ 2n (n = ชนิดของโครโมโซม) 2n หมายความว่า มีโครโมโซมชนิดที่เหมือนกัน 2 แท่ง เช่นคนมีโครโมโซม 46 แท่ง มี 23 คู่      เมื่อเซลล์แม่แบ่งเซลล์แบบไมโทซิสแล้วได้เซลล์ลูก 2 เซลล์ (daughter cell) แต่ละเซลล์มีโครโมโซม เป็น 2n   เท่ากับเซลล์แม่
วัฏจักรของเซลล์ประกอบด้วยขั้นตอน 2 ขั้นตอน คือ
       1) ระยะอินเตอร์เฟส (interphase)  เป็นระยะที่เซลล์เตรียมตัวให้   พร้อมก่อนที่จะแบ่งนิวเคลียสและไซโทพลาซึม เซลล์ในระยะนี้ มีนิวเคลียสขนาดใหญ่ และเห็นนิวคลีโอลัสชัดเจนเมื่อย้อมสี แบ่งเป็นระยะย่อยได้ 3 ระยะ คือ
     - ระยะก่อนสร้าง DNA หรือระยะ จี1
     - ระยะสร้าง DNA หรือระยะเอส
     - ระยะหลังสร้าง DNA หรือระยะ จี2
       2) ระยะที่มีการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส (mitotic phase หรือ M phase)  เป็นระยะที่มีการแบ่งนิวเคลียส เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ แล้วตามด้วยการแบ่งของไซโทพลาซึม การแบ่งนิวเคลียสแบบไมโทซิส อาจแบ่งได้เป็น 4 ระยะคือ
     - ระยะโพรเฟส (prophase) เป็นระยะที่นิวเคลียสยังมีเยื่อหุ้มอยู่
     - ระยะเมทาเฟส (metaphase) เป็นระยะที่เยื่อหุ้มนิวเคลียสสลายตัว
     - ระยะแอนาเฟส (anaphase) เป็นระยะที่โครโมโซมแยกกันเป็น 2 กลุ่ม
     - ระยะเทโลเฟส (telophase) เกิดการแบ่งของไซโทพลาซึมขึ้น








วัสดุอุปกรณ์
1.     ขวดปากกว้าง บีกเกอร์ หรือแก้วน้ำ
2.    ใบมีดโกน
3.    ชุดตะเกียงแอลกอฮอล์
4.    กล้องจุลทรรศน์
5.    สไลด์ และกระจกปิดสไลด์
6.    หลอดหยด
7.    ดินสอชนิดที่มียางลบติดอยู่
8.    กรดไฮโดรคลอริก เข้ข้น 1 mol/l
9.    น้ำกลั่น
10. สีอะซีโทคาร์มีน เข้มข้น 0.5%
11. หัวหอมแดง หรือหัวหอมใหญ่
การเตรียมตัวอย่างปลายรากหอม
        นำหัวหอมหรือหอมแดงมาเฉือนบริเวณที่เกิดรากติดกับลำต้น วางบนตะแกรงที่อยู่เหนือกะละมังหรือแก้วน้ำซึ่งมีน้ำอยู่ให้หัวหอมส่วนที่เฉือนแช่น้ำเพียงเล็กน้อย ทิ้งไว้ในที่มืดประมาณ 3-4 วัน จะเกิดรากใหม่
การย้อมสี
1.    ตัดปลายรากหอมยาวประมาณ 0.5 ซม. นำมาวางบนสไลด์ แล้วหยดกรดไฮโดรคลอริกให้ท่วม ผ่านสไลด์ไปบนเปลวไฟ 3-4 ครั้ง ระวังอย่าให้กรดแห้ง แล้วล้างกรดออกโดยหยดน้ำกลั่นลงบนสไลด์และเทออก 2-3 ครั้ง
2.    ซับน้ำให้แห้งแล้วหยดสีอะซีโทคาร์มีน ผ่านเปลวไฟ ระวังอย่าให้สีเดือดและแห้ง แล้วปิดด้วยกระจกปิดสไลด์
3.    ใช้ดินสอด้านที่มียางลบติดอยู่เคาะเบาๆบนกระจกปิดสไลด์ เพื่อให้เซลล์กระจาย แล้วซับบริเวณข้างๆกระจกปิดสไลด์ให้แห้ง
4.    ตรวจดูเซลล์รากหอมที่อยู่บนสไลด์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ สังเกตความแตกต่างของแต่ละเซลล์ แล้วถ่ายภาพเซลล์ระยะต่างๆของการแบ่งเซลล์ไว้
 ภาระงาน
1.  ถ่ายรูประยะต่างๆของการแบ่งเซลล์

แจ้งการสอบเรื่องการใช้เครื่องแก้ว

วันที่ 24 มิ.ย. 2554 สอบเรื่องการใช้อุปกรณ์เครื่องแก้วทั้งนักเรียนหญิงและชาย ใช้เวลาประมาณ 3 ชัวโมง กรุณาเตรียมอาหารกลางวันมาบริโภคให้เรียบร้อย

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเตรียมสไลด์สด (Wet mount)

วิธีการเตรียมสไลด์สด
            1. หยดน้ำ 1 -2 หยดด้วยหลอดหยดลงบนแผ่นสไลด์
            2. เด็ดใบสาหร่ายหางกระรอกใบยอดสุดวางบนหยดน้ำบนสไลด์
            3. ปิดด้วยกระจกปิดสไลด์ โดยวางทำมุม 45 องศากับแผ่นสไลด์แล้ววางลง ระวังอย่าให้มีฟองอากาศ
            4. นำไปตรวจใต้กล้องจุลทรรศน์ ด้วยกำลังขยาย 10 X 4
                5. ถ่ายภาพเซลล์ที่พบเห็นภายใต้กล้องจุลทรรศน์
            6. ลอกเยื่อหอมแดงโดยใช้เยื่อด้านในกลีบหอม วางบนหยดน้ำบนสไลด์ จากนั้นทำตามข้อ 3 5
            7. ลอกเยื่อจากใบว่านกาบหอยโดยเอาด้านท้องใบและทำเช่นเดียวกับข้อง 3 5
            8. ให้น้ำจากแหล่งน้ำหยดลงบนสไลด์และปิดด้วยกระจกปิดสไลด์  โดยวางทำมุม  45 องศา กับแผ่นสไลด์ และทำตามข้อ 4 5

สิ่งที่ต้องเตรียม
1. หอมแดง
2. ใบว่านกาบหอย
3. สาหร่ายหางกระรอก
4. น้ำก้นบ่อปลา หรือ แหล่งน้ำขัง
ภาระงานที่ต้องบันทึก
1.  ถ่ายรูปตัวอย่างที่ใช้ทำสไลด์สดผ่านกล้องจุลทรรศน์

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การใช้กล้องจุลทรรศน์

ใบความรู้ที่ 1
เรื่อง กล้องจุลทรรศน์
ส่วนประกอบของกล้องจุลทรรศน์
1.      Stage  :  วางวัตถุหรือสไลด์ที่ต้องการศึกษา  
2.      Illuminator  :  แหล่งกำเนิดแสงส่องผ่านวัตถุ
3.      Coarse adjustment  :  ปรับระยะภาพ
4.      Eyepiece  :  ขยายภาพที่ได้จากเลนส์ใกล้วัตถุให้มีขนาดใหญ่ขึ้น  
5.      Specimen holder  :  ยึดสไลด์ให้ติดกับที่วางวัตถุ    
6.      Revolving nosepiece  :  ใช้จับเปลี่ยนกำลังขยายของเลนส์ใกล้วัตถุ
7.      Objective lens  :  รับภาพและขยายภาพจากวัตถุที่นำมาศึกษา ส่งผ่านไปยังเลนส์ใกล้ตา   
8.      Fine adjustment  :  ปรับความคมชัดของภาพ  
9.       Arm  :  ยึดระหว่างลำกล้องและฐาน 
10.  Diaphragm  :  ทำหน้าที่ปรับปริมาณแสงให้พอเหมาะ         
การใช้และการเก็บรักษากล้องจุลทรรศน์    
วิธีการใช้กล้องจุลทรรศน์
1.             การถือกล้อง โดยใช้มือหนึ่งจับแขนกล้อง อีกมือหนึ่งรองรับที่ฐาน ต้องยกกล้องในสภาพที่กล้องตั้งตรงเสมอ เพื่อป้องกันส่วนประกอบของกล้องเลื่อนหลุด เช่น เลนส์ใกล้ตา
2.             นำกล้องมาวางไว้บนโต๊ะให้ห่างจากขอบโต๊ะเล็กน้อย
3.             ตั้งลำกล้องให้ตรง โดยที่เลนส์ใกล้วัตถุที่มีกำลังขยายต่ำสุดอยู่ตรงกับแนวลำกล้อง แล้วเปิดไฟ
4.             นำสไลด์ที่เตรียมไว้วางบนแท่นวางวัตถุ ให้วัตถุอยู่ตรงบริเวณที่แสงผ่าน
5.             ปรับเลนส์ตาทั้งสองให้ระยะห่างพอดีกับช่วงตาของผู้ศึกษา แล้วเริ่มปรับหาระยะภาพที่กำลังขยายต่ำสุดโดยใช้ปุ่มปรับภาพหยาบ ถ้าแสงสว่างเกินไปให้ลดความสว่างโดยใช้ไดอะแฟรม
6.             เมื่อเจอภาพแล้วต้องการปรับความคมชัด ก็ให้ใช้ปุ่มปรับภาพละเอียด
7.             เมื่อต้องการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ควรหมุนเปลี่ยนกำลังขยายเลนส์ใกล้วัตถุโดยใช้จานหมุน จากนั้นให้ปรับความคมชัดภาพด้วยปุ่มปรับภาพละเอียด
ข้อควรระวัง
1.             ระวังอย่าให้เลนส์ใกล้วัตถุสัมผัสกับกระจกปิดสไลด์
2.             เมื่อปรับกำลังขยายของเลนส์ใกล้วัตถุสูงกว่า x10 แล้วต้องการปรับความคมชัดของภาพ ให้ใช้เฉพาะปุ่มปรับภาพละเอียดเท่านั้น
3.             ห้ามใช้เลนส์ใกล้วัตถุกำลังขยาย x100 หากไม่ได้หยดน้ำมันลงบนสไลด์ และขาดความชำนาญ
วิธีเก็บกล้องจุลทรรศน์
1.             หลังจากใช้กล้องจุลทรรศน์เสร็จแล้วตรวจดูความเรียบร้อยของส่วนต่างๆเสียก่อน
2.             ใช้ผ้านุ่มทำความสะอาดกล้องเฉพาะส่วนที่เป็นโลหะ และใช้กระดาษเช็คเลนส์ทำความสะอาด
3.             หมุนเลนส์ใกล้วัตถุที่มีกำลังขยายต่ำสุดให้อยู่ตรงกับตัวกล้อง แล้วเลื่อนแท่นวางวัตถุลงมาต่ำสุด
คำถาม
1.             เลนส์ที่ใช้ในกล้องจุลทรรศน์มีกี่ชนิด อะไรบ้าง
2.             ไดอะแฟรมทำหน้าที่อะไร
3.             จงบอกความแตกต่างของปุ่มปรับภาพหยาบและปุ่มปรับภาพละเอียด
งานที่ต้องบันทึก
1.             ถ่ายรูปกล้องจุลทรรศน์พร้อมชี้ส่วนประกอบ
2.             วาดภาพอักษร “ ง ”  ที่มองเห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์ที่กำลังขยายของเลนส์ใกล้วัตถุเท่ากับ x10 พร้อมบอกลักษณะภาพ
3.             ภาพถ่ายวัตถุที่มองเห็นจากกล้องจุลทรรศน์ พร้อมบอกกำลังขยาย
4.             ตอบคำถามด้านบนลงในรายงานผลการทดลอง

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเขียนรายงานผลการทดลอง


หัวข้อการเขียนรายงาน
1. ชื่อการทดลอง (title of subject)
2. ชื่อผู้ทำการทดลอง (names) พร้อมรายชื่อผู้ร่วมการทดลอง
3. วัตถุประสงค์ (objective) ของการทำการทดลองนั้น
4. วิธีการทดลอง (procedure) อธิบายถึงขั้นตอนการทำการทดลองตามความเป็นจริง
5. ผลการทดลอง (result) แสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการทดลองอาจจัดอยู่ในรูปของตารางหรือกราฟแล้วแต่ความเหมาะสม
6. การคำนวณ (calculation) ควรแสดงขั้นตอนการคำนวณพร้อมทั้งแสดงสมการเคมีที่นำมาใช้ ผลการคำนวณอาจแสดงไว้ในรูปของตารางได้เช่นกัน
7. วิจารณ์ผลการทดลอง (discussion) ผลการทดลองนั้นสอดคล้องกับทฤษฎีหรือไม่หากไม่สอดคล้อง ให้อธิบายถึงสาเหตุที่ผลการทดลองคลาดเคลื่อน และบอกแนวทางแก้ไขความคลาดเคลื่อน ว่ามีอย่างไรบ้าง
8. สรุปผลการทดลอง (conclusion) กล่าวสั้น ๆ ถึงสาระสำคัญที่ได้จากผลการทดลองทั้งที่ได้ผลบวกหรือผลลบ (ไม่ควรนำทฤษฎีมาสรุป)
9. ข้อเสนอแนะ (suggestion) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทดลองเท่านั้นอาจกล่าวถึงงานที่สามารถทำเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา หรือของการทดลอง อาจกล่าวถึงแนวทางการประยุกต์เพื่อใช้งานต่อไป